/ # Experience / 4 min read

โรงเรียนอนาคต (School of Tomorrow)

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-22 กรกฎาคม 2561) เราได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ชื่อว่า "โรงเรียนอนาคต" มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้น และแน่นอนว่าคงจะหล่นหายไปตามกาลเวลา คิดว่าคงจะดีที่จะบันทึกไว้เพื่อตามหามันในอนาคตข้างหน้า


Pre-School of Tomorrow

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมลังเลมากในการสมัครโครงการนี้ แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายของการโฆษณาจะพุ่งตรงมาที่ผม ด้วยการประกาศชื่อวิทยากรบางส่วนที่เรียกได้ว่า–คนที่ติดตามมาโดยตลอดอย่างผม–คงจะสมัครในทันทีทันใด

ผมคิดว่ามันเป็น Commitment บางอย่างเลยทีเดียวในการที่จะสมัคร เพราะต้องยอมแลกกับอะไรบางอย่างไป ทั้งเวลา, การสอบกลางภาค, ภาระงานพอกหางหมู, วันหยุด รด., โอกาสกดบัตร Cat Expo, พลาดไปคอนอิงค์ วรันธร ฯลฯ และความคิดที่ว่ายังไงก็ไม่ติดอยู่แล้ว เพราะต้องส่งทั้งเรียงความ ผลงาน และประวัติฯ เสียเวลาเปล่า ๆ แถมมีโปรเจคเดี่ยวและกลุ่มอีก

สุดท้ายผมก็สมัคร ด้วยเหตุผลเดิม ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นโดยตลอดว่า ถ้าสมัครแค่นี้ไม่ได้เราคงทำห่าอะไรไม่ได้อีกแล้วละมั้ง เมื่อเหลือเวลาเพียงสองชั่วโมงสุดท้ายก็ลงมือปั่นสุดชีวิตให้ลุล่วง พร้อมกับความคิดว่า ทำไมกูไม่รีบทำ ๆ ไปวะ?

ผิดคาดแต่ไม่ผิดหวัง

เราวางแผนการใช้ชีวิตอย่างดีตามปกติหลังจากได้รับโปรแกรมทั้งสองอาทิตย์มา แม้ว่าจะรู้สึกตกใจถึงจำนวนวิทยากรและความยาวของการเรียนในแต่ละวัน แต่ ณ เวลานั้นเราเชื่อว่าเราสามารถทำงานที่เราจะพามันมาค่ายด้วยได้อย่างแน่นอน

และแน่นอนอีกด้วยว่า เราทำไม่ได้ และไม่เคยทำได้...

เมื่อเข้าไปเรียน เนื้อหาส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเภทที่เรียกว่า Discussion นั้นมองไปอย่างสังคม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านมุมมองหลาย ๆ แบบ เราได้เรียนตั้งแต่ระเบียบโลก การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ความยุติธรรม ความยั่งยืน ฯลฯ แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้ตื่นเต้นซักเท่าไหร่กับหลาย ๆ บทเรียนประเภทนี้ เหมือนเราได้จัดระบบความคิด และมีมุมมองของผู้บรรยายและจากคำถามของเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในค่ายเสียมากกว่า

ที่กล่าวไปนั้นจะอยู่ในภาคเช้า พอภาคบ่ายก็จะมาทำ Workshop กัน ถึงแม้ว่าบ้างอันมันจะไม่ค่อยได้ลงมือปฏิบัติซะทีเดียว แต่ในส่วนนี้เราคิดว่าเราได้อะไรใหม่ ๆ กลับไปมาก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เราไม่ค่อยได้ศึกษา

ตกเย็นเราก็จะมีวงคุยกันหลังกินข้าว (Dinner Talk) อันนี้จะมีความ Casual มากกว่าระหว่างวิทยากรและผู้เรียน ถามตอบกันไปมา แม้ว่าบางวันจะแอบง่วงไปซักหน่อย แต่เป็นวงที่สนุก และได้รับความรู้ใหม่ ๆ มากเลยทีเดียว และอย่างน้อย ๆ เราจะได้มุมมอง และ Insights จากวิทยากรที่มีประสบการณ์ในด้านที่เขาทำมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีวงเดินทาง และวงเสวนากับทั้งพรรคการเมือง (อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, สามัญชน) นักเศรษฐศาสตร์ และภาคประชาสังคมอีกด้วย

หากถามว่าสิ่งที่ได้จากค่ายนี้คืออะไร สำหรับผมความรู้คงจะไม่ใช่คำตอบแรก ๆ แต่เป็นการที่ผมตระหนักถึงมิติมากมายและความหลากหลายของสังคมที่มากกว่าเดิม ผมมักจะคิดว่าตัวเองรู้ตัวดีว่า เราต้องมองอะไรหลาย ๆ มุมนะ โลกนี้ไม่ได้มีมิติเดียวซะหน่อย ในความเป็นมนุษย์มีความหลากหลาย อะไรทำนองนี้ แต่หลังเวลาสิบสี่วัน สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากขึ้นคือ มุมมองต่าง ๆ ที่ผมมองเห็นและคิดว่ามันหลากหลายเนี่ย มันหลากหลายพอหรือยัง มันเยอะพอแล้วจริง ๆ เหรอ?

ด้วยความหลากหลายของเพื่อนและพี่ ๆ ที่มาเข้าค่ายจากหลายหลายสาขาวิชา และมาคอยดูแลโครงการนี้ ทำให้โครงการนี้ไม่เหมือนโครงการไหน จากการไม่มีกรอบ กฎเกณฑ์ที่มากมายเหมือนกิจกรรมอื่น ๆ ก่อเกิดบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ปกติมาก ๆ ทุกคนไม่ได้เห็นพ้องตรงกันไปเสียทั้งหมด สามารถคุยกันดึกดื่นได้โดยไม่เบื่อ ซึ่งคงจะเป็นบรรยากาศนี้คงเรียกได้ว่าเป็น โรงเรียนอนาคต (อย่างน้อยก็ในเมืองไทย) ได้จริง ๆ

หลังจากพายุที่โหมกระหน่ำผ่านตัวผมจบลง (ใน 14 วัน) ผมไม่อาจรู้ได้ว่าผมผ่านมาได้อย่างไร แต่มีหนึ่งสิ่งที่ผมแน่ใจคือตัวผมนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน แม้ว่าจะไม่รู้ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

ผมจึงดีใจมาก ๆ ที่ตอนนั้นเราไม่ขี้เกียจและตัดสินใจสมัครมาเข้าโครงการ มันคุ้มมาก ๆ ที่เรายอมสละไม่ไปคอนฯ ของอิ้งค์ วรันธร ยอมโดดสอบ ยอมปวดตูดกว่า 14 วัน เพื่อมาอยู่กับเพื่อนและพี่ ๆ สามสิบกว่าชีวิตที่มาเข้าค่ายซึ่งเป็นโอกาสเดียวในชีวิต

ขอบคุณทุกคนมาก ๆ


แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ช่วงเวลาที่เป็นสุขมันผ่านไปไวเหมือนโกหก โลกเรามักเล่นตลกกับเราเสมอ วันต่อมาหลังจากจบค่าย เราต้องกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง ผมต้องรีบตื่นตั้งแต่ตีห้า ฝ่าฝูงชนบนบีทีเอส เพื่อกลับไปเรียน รด. อันแสนทรมาณเหมือนที่เคยเป็นเสมอมา...

ปล.อยากกินบะหมี่อ่ะ .

#dabest #เชดเข้ #เฉียบ #จับใจ #คุณแม่งแย่ว่ะ # # #

โรงเรียนอนาคต (School of Tomorrow)
Share this