/ # Review / 4 min read

[Review] Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) : การสู้รบระหว่างความแตกต่าง

แม้ภาพยนตร์มีฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่แสดงให้เห็นไม่ใช่การสู้รบด้วยกำลังอาวุธในสนามรบ แต่เป็นการสู้รบระหว่างวัฒนธรรมและความเชื่อที่ตนเองยึดถือ ในค่ายกักกันของญี่ปุ่น ณ ชวา

ภาพยนตร์เรื่องในที่สองในชุด Doc Club Classics ของ Documentary Club เป็นอีกเรื่องที่มีผู้ประพันธ์เพลงเป็นริวอิจิ ซากะโมโต เหมือนกับ The Last Emperor (1987) ที่ต่างออกไปคงจะเป็นว่า ในเรื่องนี้ซากะโมโตเป็นนักแสดง ร่วมกับนักแสดงมือใหม่ (แต่หน้าไม่ใหม่) อย่างเดวิด โบวี่ ภายใต้การกำกับของ นางิสะ โอชิมะ หนึ่งในผู้กำกับชั้นครูของญี่ปุ่น

เพลงเพราะมาก

การสู้รบกันในเรื่องเริ่มตั้งแต่ต้นเรื่อง ในเหตุการณ์ที่มีนายทหารชาวญี่ปุ่นพยายามจะฮาราคีรี (หรือฆ่าตัวตาย) เพราะไปมีเพศสัมพันธ์กับเชลยชาวอังกฤษ แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นอย่าง ผู้หมวดฮาระ มิได้ขัดขวางการกระทำนั้น แต่เชลยชาวตะวันตกแบบ ลอว์เรนซ์ ผู้เห็นด้วยวัฒนธรรมการฮาราคีรีกลับเข้ามายับยั้ง จนตัวเองก็บาดเจ็บไปด้วย

ในตอนแรกที่มีเพียงแค่ผู้หมวดฮาระเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันออก และลอว์เรนซ์เป็นตัวแทนของฝั่งตะวันตก เนื้อเรื่องก็เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเชลยคนใหม่อย่างเซลเลียร์เข้ามาค่าย และการปรากฎตัวของโยโนอิ ซึ่งต้องเข้ามาร่วมตัดสินคดีของเซลเลียร์ในตอนแรก

merry

โยโนอิมีความเจ้าระเบียบ ญี่ปุ่นจ๋ามากๆ ส่วนเซลเลียร์ก็เก่งกาจ มีความเป็นปัจเจกชัดมากเช่นกัน ทั้งสองคนเหมือนเป็นด้านตรงข้ามที่สุดโต่งมาเจอกัน ที่ดูจะประนีประนอมกันไม่ได้ แต่การเจอกันกลับทำให้อีกฝั่งนึงเริ่มแปรปรวน โยโนอิผู้ดูแข็งกร้าวกลับผ่อนปรนมากขึ้น และดูจะหวั่นไหวกับเซลเลียร์มากๆ เสียด้วย แม้ตัวภาพยนตร์จะไม่ได้บอกมาตรงๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ สองคนนี้มีปมๆ เดียวกัน ปมในเรื่องความเป็นชายของตัวเอง เซลเลียร์มีปมเรื่องน้องของตัวเอง ที่โดนบุลลี่ แต่ตัวเองทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เพราะไม่กล้าพอ กับโยโนอิซึ่งนับเป็นทหารหัวก้าวหน้า แต่กลับไม่กล้าหาญพอที่จะไปเข้าร่วม สุดท้ายพวกพ้องตัวเองก็ตายไป

แม้ปมจะคล้ายเพียงใด ดูเหมือนสองตัวละครนี้จะเกิดมาเพื่อต้องต่อสู้กัน ยิ่งโยโนอิจะพยายามสอดใส่ความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปในพวกตะวันตกมากเท่าไหร่ เซลเลียร์ก็ยังคงยึดมั่นในความเป็นตะวันตกและต่อต้านขึ้นมาตลอด อีกทั้งยังปรากฎถึงความสับสนของโยโนอิที่ไม่รู้จะเลือกทางไหน

MERRY-CHRISTMAS-MR-LAWRENCE

และแล้ว ในวันที่เซลเลียร์ลุกขึ้นมาต่อต้านโยโนอิ ด้วยการเดินไปจูบเขาในค่ายกลางผู้คน ทำให้โยโนอิเลือกเส้นทางของตัวเองได้เสียที แม้ว่าจะดูสายไปเสียแล้ว

กลับมาอีกฝั่งคือคู่ของฮาระกับลอว์เรนซ์ ลอว์เรนซ์ดูเหมือนผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่ง เขาพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เขาเข้าใจ และพยายามไกล่เกลี่ยอยู่ตลอดเมื่อผู้คุมกับพวกทหารญี่ปุ่นจะทะเลาะกัน และฮาระเองที่ลึกๆ แล้ว แม้จะเป็นคนซาดิสม์มากๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงครึ่งนึงของตัวเขา เพราะอีกครึ่งนึงเขามีความเป็นมนุษย์อยู่เต็มเปี่ยม เขาเคยเมาแล้วตัดสินใจปล่อยลอว์เรนซ์และเซลเลียร์ในวันคริสต์มาส และกล่าว "Merry Chirstmas" ให้กับทั้งสองคน

เมื่อภาพยนตร์ดำเนินมาถึงจุดจบ ปมทุกอย่างถูกรวบรัดและคลี่คลาย ความแตกต่างได้สลายหายไป

aW1hZ2UvMjAxOS0wMy81OWJhODEwMzk2MDJmNjc2ODRjNzEyMjA4NWM3MGY2MC5qcGc-

สงครามสิ้นสุดลงและลอว์เรนซ์กลับมาถืออำนาจแทน เขากลับมาเจอฮาระอีกครั้ง ไม่ได้มาเพื่อแก้แค้น แต่เป็นการนั่งลงคุยกันอย่างเป็นกันเอง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติสลายหายไป พวกเขาสองคนต่างเข้าใจว่าต่างคนก็ต่างเป็นมนุษย์ด้วยกัน ฮาระพยายามเข้าใจลอว์เรนซ์ผ่านการศึกษาภาษาอังกฤษ เหมือนกับที่ลอว์เรนซ์เข้าใจภาษาญี่ปุ่น


ตลอดการดำเนินเรื่อง ลอว์เรนซ์ชี้ให้คนดูเห็นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งไม่มีฝ่ายไหนที่ถูกต้องไปทั้งหมด บางทีเราอาจจะมองความจริงคนละชุดกันอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเรื่องจะจบลงถ้าต่างฝ่ายต่างพยายามเข้าใจกัน

ความขัดแย้งที่ขึ้นถึงจุดสูงสุด สุดท้ายก็จบลงมาสู่ความสามัญอย่างความเป็นมนุษย์ ในฉากสุดท้ายที่ฮาระและลอว์เรนซ์พูดคุยกัน และฮาระกล่าวส่งท้ายให้กับลอว์เรนซ์ว่า "Merry Christmas, Mr. Lawrence"

[Review] Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) : การสู้รบระหว่างความแตกต่าง
Share this