/ # Technology / 8 min read

19 คำศัพท์เฉพาะสำหรับวงการ Startup ที่ต้องรู้! (เดี๋ยวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง)

หากใครได้เคยเข้าไปสัมผัสกับโลกของ Startup แล้วไม่ได้มีพื้นฐานอะไรมาก่อนเกี่ยวกับโลกธุรกิจ หรืออ่อนภาษาอังกฤษซักหน่อย ก็อาจจะงงกับ 'ศัพท์แสง' (Jargons) ของวงการนี้เป็นแน่แท้ ทั้ง "จะ Pitch ยังไงให้ปัง" ทั้ง "บริษัทนี้แทบจะเป็น Unicorn แล้ว" หรือ "Valuation ของบริษัทเนี่ยสูวงเกินไปหรือเปล่า" (ใครเคยดูรายการ Shark Tank หรือ Dragon Dens จะได้ยินบ่อย) ฯลฯ

ได้ยินแล้วอาจจะมึนหัวกันไปเลยในช่วงแรก เนื่องจากเราเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยงงกับคำเหล่านี้อยู่ช่วงหนึ่ง เพียงแต่โชคดีว่าเราพอได้ภาษาอังกฤษเลยพอถูไถไปได้ เลยมาเขียนบทความไว้แชร์คำที่ควรรู้สำหรับวงการนี้กัน

จะมีคำไหนบ้าง เลื่อนกันไปด้านล่างเลย

1.Accelerator (หรือ Incubator)

หากแปลทั้งสองคำด้านบนตรงตัว คำแรกคือ 'ตัวเร่งความเร็ว' หรือ 'ตัวฟูมฟัก' หากมาอยู่ในบริบทสตาร์ทอัพแล้วก็คือโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ ให้โตขึ้นนั้นเอง ตัวอย่างเช่น ให้คำปรึกษา ให้เทคโนโลยีบางอย่าง หรือบางทีก็ให้ทุนมา เป็นต้น

ที่จริงแล้วสองคำนี้มีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย หากกล่าวสั้นๆ คือ Accelerator เนี่ยสตาร์ทอัพต้องตั้งบริษัทไปก่อน แล้วสมัครเข้าไป แล้วเขาจะช่วยให้โตเร็วขึ้น แต่ Incubator เนี่ยจะให้สตาร์ทอัพเข้ามาตั้งแต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างนั่นเอง

ดังนั้นแล้ว การหา Accelerator หรือ Incubator ที่ใช่จึงจำเป็นมาก และจะทำให้สตาร์ทอัพนั้นโตเร็วมากขึ้นด้วย

2.Bootstrapping

แปลง่ายๆ เลยคือเจ้าของสตาร์ทอัพยอมกรีดเลือดตัวเอง (ใช้เงินตัวเอง) เพื่อก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในตอนแรกนั่นเอง ไม่ได้ระดมทุนจากนักลงทุน หรือไปขอเงิน 3F ได้แก่ พ่อแม่ (Family) เพื่อน (Friends) คนบ้าๆ ที่ชอบไอเดียเรา (Fools) ไม่ก็ทำ MVP (ดูด้านล่างมีอธิบาย) แล้วไปขายให้ลูกค้ากลุ่มแรกๆ มาใช้

3.Burn Rate (หรือ Run Rate)

อัตราการเบิร์น ฟังดูแล้วส่อไปอีกทางมากๆ หมายถึงอัตราความเร็วในการเผาพลาญเงินนั่นเอง เพราะทั่วไปแล้วสตาร์ทอัพช่วงปีแรกๆ ก็ขาดทุนก่อนจะได้เท่าทุนด้วย ดังนั้นแล้วคนที่เขาจะลงทุนเขาก็อยากรู้แหละว่าเดือนนึงปีนึงเราต้องใช้ตังเท่าไหร่

4.Deck (หรือ Pitch Deck)

Pitch ถ้าเรียกภาษาบ้านๆ ก็คือการพรีเซนต์นั่นแหละ แต่เป็นการพรีเซนต์ที่ถึงน้ำถึงเนื้อ ไม่ยืด ตรงจุดมากๆ ส่วนตัว Pitch Deck ก็คือตัวสไลด์ Presentation ของสตาร์ทอัพในการไปขายให่้นักลงทุนนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วจะมีประมาณ 10 หน้า (15 หน้านี่คือสุดๆ ละ) เนื้อหาก็จะครอบคลุมทุกๆ ด้านของธุรกิจเรา แต่ละที่ก็จะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน

เคล็ดลับง่ายๆ ก็คือต้องทำการบ้านเยอะๆ ค้นคว้าให้มาก หาฟีดแบคให้เยอะ หรือถ้าทำดีไซน์ไม่ไหวก็จ้างดีไซน์เนอร์เก่งๆ มาทำให้เถอะ ส่วนแนวทางก็ลองไปดูที่เจ้าพ่อ Guy Kawasaki เขียนไว้ได้เลย

5.Disruptive Technology (Disruption)

การ Disrupt เนี่ยถ้าแปลเป็นไทยแบบพจนานุกรมเลย จะแปลว่า 'การทำลาย' ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงแบบไวมากๆ ไม่ทันตั้งตัว เช่น Uber หรือ Grab ที่มาแทนการเดินทางทั่วไป หรือการที่มี Online Shoping อย่าง Shopee หรือ Lazada ทำให้การช้อปเข้าห้างเนี่ยน้อยลง (ในไทยอาจจะยังไม่ชัดเท่าต่างประเทศ) ดังนั้น Disruptive Technology ก็คือพวกเทคโนโลยีที่มันมา Disrupt อะไรเดิมๆ

6.Exit strategy

'กลยุทธ์ในการออก' หมายถึงวิธีที่สตาร์ทอัพจะขายบริษัทให้ใครซักคน แล้วได้กำไรมากให้กับตัวเองและผู้ลงทุน ไม่ใช่ยุทธวิธีการออกจากบริษัทแต่อย่างใด

7.Gamification

แปลตรงตัวคือ 'การทำให้กลายเป็นเกม' อาจจะมองภาพไม่ออก แต่ถ้าลองยกตัวอย่าง เช่นบัตรสะสมแต้มชานมไข่มุก เก็บ 10 สแตมป์ฟรี 1 แก้ว อันนี้แหละคือการ Gamification ก็คือการเพิ่มอะไรบางอย่างเข้าไปที่ทำให้ผู้คนอยากใช้ อยากทำ อยากซื้อ โดยใช้การให้รางวัลต่างๆ

คนเราชอบแข่งขันกันอยู่แล้ว

[Update: 2019] กรณีที่ชัดมากๆ ก็คือแอพ TMRW ของธนาคาร UOB นี่แหละ

8.Growth Hacking

ฟังแล้วอาจจะงงว่าเราจะแฮคการเติบโตยังไง ที่จริงมันคือการใช้เทคนิคใหม่ๆ (ไม่ใช่เทคนิคในปัจจุบันด้วยนะ) เพื่อให้สตาร์ทอัพเติบโตให้ไวที่สุด ดังนั้นแล้วการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่การยิง Ads อาจจะไม่ใช่การ Growth Hacking แต่ต้องเป็นวิธีการแยบยลกว่านั้น

ยกตัวอย่าง Airbnb ทำยังไงเพื่อเจาะตลาดสหรัฐ ต้องเล่าก่อนว่าในสหรัฐเนี่ยจะมีเว็บประกาศหาห้องพักที่ดูโบราณมากๆ ชื่อ Craigslist คราวนี้เพื่อดึงคน Airbnb เลยทำฟีเจอร์ Post to Craigslist หรือลงที่ Airbnb ก็ไปลงที่อีกเว็บได้เลย คราวนี้ใครจะไม่อยากมาลงกับ Airbnb หล่ะครับ ได้ทั้งสองเว็บพร้อมกันไปเลย

ดูแล้วจะเห็นว่าไม่ใช่วิธีที่ต้องใช้ทรัพยากรและเงินเป็นจำนวนมากเลยใช่ไหมครับ?

9.Market Penetration

คือการเจาะตลาด คือในสินค้าหรือบริการที่เรากำลังจะขายเนี่ย ก็คงมีผู้เล่นคนอื่นใช่ไหมครับ เวลาถามถึงเรื่องนี้ ผู้ลงทุนก็คงจะอยากรู้ว่าสตาร์ทอัพของเราจะเจาะเข้าไปได้มากเท่าไหร่ จะครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดเท่าไหร่ และจะทำได้ไวแค่ไหน

10.MVP

หรือ Minimum Viable Product ก็คือสินค้าเวอร์ชั่นที่เป็นกระดูกสันหลังของมันจริงๆ (จะเรียก Prototype ก็พอได้) เราสร้างมันขึ้นมาไวที่สุด เพื่อจะไปพิสูจน์ว่า ไอเดียที่เราคิดขึ้นมานั้นมันโอเคกับลูกค้าที่เราคิดไว้จริงๆ

กรณีที่มักพูดถึงกันก็คือ Dropbox เชื่อไหมว่าในตอนแรก Dropbox ไม่ได้สร้างขึ้นมาเป็นโปรแกรมก่อน แต่เป็นวิดีโอประมาณ 5 นาทีเพื่อไปให้ลูกค้าดูว่าถ้ามีโปรแกรมแบบนี้แล้วพวกเขาจะใช้ไหม เพื่อเก็บฟีดแบ็กต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาต่อ

11.IP (Intellectual Property)

ก็คือทรัพย์สินทางปัญญานั่นเอง อาจจะเป็นสิทธิบัตร หรือความลับทางการค้า แบบสูตร Coke ที่ไม่ว่าใครก็ทำตามไม่ได้ แน่นอนว่าบางสตาร์ทอัพก็ไม่ได้มี IP แต่ถ้ามีเนี่ยก็ต้องปกป้องมันสุดๆ ไม่ให้ใครรู้แล้วมาแข่งกับเราได้เลยหล่ะ

12.Lean Startup

คำว่า LEAN มักจะโผล่มาพร้อมกับคำอื่นๆ เช่น Agile, Scrum และอื่นๆ ในครั้งนี้คงจะอธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร หากจะให้สรุปแบบแก่นๆ เลยก็คือ พันธกิจหลักของพวก Lean Startup เนี่ยจะพยายามพิสูจน์คอนเซปต์ที่พวกเขาคิดขึ้นมาให้ไวที่สุด ถูกที่สุด จะได้แก้ไขให้ไวที่สุด หรือนัยหนึ่งก็คือ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด!

13.Pivot

แปลตรงๆ เลยก็คือการหมุนนั่นเอง ในทีนี้คือการหมุนออกจากทิศทางเดิม เพราะว่าสินค้าหรือบริการที่ทำอยู่มันไปต่อไม่ไหวแล้วนั่นเอง ก็เลยต้อง Pivot ไปอีกทาง

14.ROI (Return On Investment)

ผลที่ได้กลับมาจากการลงทุน พูดง่ายๆ เลยก็คือลงทุนแล้วจะได้กำไรมาเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้นั่นเอง ว่าเงินที่พวกเขาลงทุนไปจะพอกพูนได้ขนาดไหน

15.Scale up

การสเกลขึ้นไป ก็คือการที่ธุรกิจพยายามจะโตขึ้นนั่นเอง ทั้งขนาด ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ออฟฟิศใหญ่ขึ้น หรือสาขาใหญ่ขึ้น เป็นต้น

16.Stealth mode

ใครที่เคยเล่นเกมก็อาจจะได้ยินคำนี้ มันก็คือการแอบๆ เล่นไม่ให้ผู้เล่นอื่นรู้ตัว เหมือนกันกับการทำสตาร์ทอัพ บางทีเราก็อาจจะต้องแอบทำเงียบๆ ไม่ให้เจ้าอื่นที่อาจจะเป็นคู่แข่งเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่!

17.Unicorns

คือสตาร์ทอัพที่ีมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ (เอาจริงๆ ก็พ้นช่วงที่จะเรียกกว่าสตาร์ทอัพได้แล้วแหละ) สตาร์ทอัพชื่อดังประเภทนี้ก็มีตั้งแต่ Uber, Snapchat, Airbnb เป็นต้น

18.Valuation

คือการประเมินมูลค่าบริษัทหรือสตาร์ทอัพ ก็จะมีหลายวิธี หากยังไม่ได้ดำเนินกิจการอะไร ก็อาจจะเทียบเคียงธุรกิจที่ใกล้กัน แล้วหามูลค่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาจจะดู Market Size และ Growth Rate ที่เป็นไปได้ต่างๆ หรือหากดำเนินมาซักพักแล้ว ก็จะดูรายได้รายจ่ายที่มี แล้วดูว่าภายในอีก 5 ปี 10 ปีพวกเขามีโอกาสจะโตไปอีกเท่าไหร่ เป็นต้น

19.VC

หรือ Venture Capitalists ก็คือนักลงทุนที่ให้เงินทุนกับบริษัทหรือสตาร์ทอัพต่างๆ แลกกับหุ้นส่วนในบริษัทนั่นเอง แน่นอนว่าพอมีเงินมาให้มาก สตาร์ทอัพก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าสามารถให้ผลประโยชน์กับพวกเขาได้จริงๆ

Bonus

Vanity metrics

แถมหนึ่งคำที่อยากให้รู้ เจ้า Vanity Metrics เนี่ยก็คือตัวเลขหรือสถิติที่อาจจะดูหวือหวา แต่ไม่ได้่บ่งบอกถึงการเติบโตของสตาร์ทอัพจริงๆ เลย เช่น ตอนนี้เพจของบริษัทเรามี Reach ทั้งหมด 1,000,000 แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้บอกอีกว่าหนึ่งล้านเนี่ยมาใช้บริการกี่คน ดังนั้นการโฟกัสกับตัวเลขเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา


คำศัพท์พวกนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีคอนเซปต์ หลักการอีกหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้าใจโลกของสตาร์ทอัพนี้ ใครที่กำลังต้องติดต่อสื่อสารกับ หรือเข้ามีส่วนร่วมกับวงการนี้ ก็หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ :)

19 คำศัพท์เฉพาะสำหรับวงการ Startup ที่ต้องรู้! (เดี๋ยวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง)
Share this